ย่อหน้า (ต่อ)

1 07 2009

โดย ธุลีดิน

ย่อหน้า (ต่อ)

เรียบเรียงโดย : ธุลีดิน

จาก : On Writing : Stephen King

แปลโดย : นพดล เวชสวัสดิ์

 

ลองอ่านตัวอย่างนี้

Big Tony’s room wasn’t what Dale had expected. The light had an odd yellowish cast that reminded him of cheap motels he’d stayed in, the ones where he always seemed to end up with a scenic view of the parking lot. The only picture was Miss May hanging askew on a push-pin. One shiny black shoe stuck out from the bed.

"I dunno why you keep askin about O’leary," Big Tony said. "You think my story,s gonna change?"

"Is it?" Dale asked.

"When your story’s true it don’t change. The truth is always the same boring shit, day in and day out."

Big Tony sat down, lit a cigarette, ran a hand through his hair.

"I ain’t seen that fuckin mick since last summer. I let him hang around because he made me laugh, once showed me this thing he wrote about what it woulda been like if Jesus was on his high school football team, had a picture of Christ in a helmet and kneepads and everythin, but what a troblesome little fuck he turned out to br! I wish I’d never seen him!"

ตัวอย่างสั้น ๆ ที่ยกมา พอจะใช้เป็นเนื้อหาสอนการประพันธ์ได้เต็มคาบ อาจารย์จะชี้ให้เห็นลักษณะของบทสนทนา (หากทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พูด ก็ขอให้ละเว้นการขยายความ กฎข้อที่ 17 ละเว้นคำฟุ่มเฟือย) การใช้ภาษาเลียนเสียงพูด (dunno, gonna) การใช้เครื่องหมายวรรคตอน (ในประโยค When your story’s true it don’t change ไม่มีเครื่องหมายคอมมาคั่น เพราะต้องการแสดงให้เห็นการพูดรวดเดียวในหนึ่งห้วงหายใจ ไม่มีการหยุดชะงัก) การตัดสินใจไม่ใช้อะพอสโตรฟี่ในยามที่ผู้พูดไม่กล่าวเต็มคำ (everythin) เรื่องราวทั้งหมดเป็นเนื้อหาบรรจุบนถาดแรกในกล่องเครื่องมือ

คราวนี้เรากลับมาดูเรื่องการใช้ย่อหน้า สังเกตเห็นไหมว่าเรื่องเล่าไหลลื่น แต่ละห้วงแต่ละจังหวะของนิยาย เป็นตัวกำหนดว่าย่อหน้าจะเริ่มเมื่อใดและจบลงที่ไหน เปิดตัวด้วยประเด็นหลัก จากนั้นก็เติมส่วนขยายเข้าไป ขับประเด็นหลักให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ส่วนอื่น ๆ จะแสดงความแตกต่างระหว่างคำพูดของเดล กับโทนี่

ย่อหน้าสำคัญที่สุดจะเป็นย่อหน้าที่ห้า Big Tony sat down, lit a cigarette, ran a hand through his hair. ประโยคเดี่ยว ยาวเฟื้อย ย่อหน้าที่ประสงค์จะแสดงเจตนาให้ปรากฏ ไม่ใคร่จะใช้ประโยคเดียว และยังไม่ถือว่าเป็นประโยคชั้นดี (ในเชิงทฤษฎี) เพราะควรจะมีสันธาน (and) แต่ทว่า ประโยคนี้ นำมาใข้เพื่อวัตถุประสงค์ใด?

ข้อแรกสุด ประโยคอาจไม่สมบูรณ์แบบในเชิงทฤษฎี แต่ถือได้ว่าเหมาะควรยิ่งในกลุ่มเนื้อความนั้น กระชับ ตัดคำขาดห้วงเหมือนภาษาโทรเลข ทำให้จังหวะการดำเนินเรื่องฉับไว ถ้อยคำใสสดกระโดดจับใจผู้อ่าน โจนาธาน เคลเลอร์แมน ใช้เทคนิคนี้ได้ดียิ่งในนิยายเรื่อง Survival of the Fittest ประโยคนั้นคือ The boat was thirty feet of sleek white fiberglass with gray trim, Tall masts, the sails tied. Satori painted on the bull in black script edged with gold.

เป็นไปได้ที่จะใช้เศษชิ้นส่วนของประโยคมากเกินงาม (เคลเลอร์แมนหลุดไปเช่นกันในบางคราว) แต่เศษชิ้นส่วนเช่นนี้จะทำให้การเล่าเรื่องเพรียวลู่วาดภาพออกมาได้ชัดเจน และเติมความกดดันบีบคั้นใจผู้อ่าน พอ ๆ กับการใช้จังหวะเปลี่ยนของการบรรยายถ้อย การเขียนเต็มประโยค แม่นหลักไวยากรณ์จะให้สำเนียงกระด้าง ไร้สัมผัสนวลเนียนกลมกลึง ครูสอนไวยากรณ์คงด่าทอและปฏิเสธจนถึงลมหายใจสุดท้าย แต่ก็เป็นเรื่องจริง การใช้ภาษาไม่จำเป็นต้องสวมสูตรผูกเน็กไท และผูกเชือกรองเท้าให้หมดจดเสมอไป วัตถุประสงค์ของนิยาย มิได้เพ่งไปที่หลักไวยากรณ์ หากแต่เป็นการอ้าแขนรับผู้อ่าน เล่าเรื่อง บรรยาย จนผู้อ่านลืมไปว่าตนเองกำลังอ่านนิยาย ย่อหน้าที่มีเพียงประโยคเดียวจะเป็นภาษาพูดยิ่งไปกว่าภาษาเขียน ซึ่งก็ถือได้ว่ายอดเยี่ยมเป็นที่สุด เพราะงานเขียนคือ การหว่านล้อมจูงใจให้ใหลหลง การพร่ำพูดเข้าท่าก็เป็นส่วนหนึ่งของการหว่านล้อมให้ใหลหลง หากไม่เป็นเช่นนี้ ทำไมเล่า หนุ่มสาวที่เริ่มกระซิบสนทนากันในมื้ออาหารเย็น ถึงได้กระโจนขึ้นเตียงเมื่อรัตติกาลเคลื่อนคล้อย?

การใช้ย่อหน้าจะเป็นการเปลี่ยนฉาก เรื่องปลีกย่อยหากแต่มีประโยชน์ยิ่ง ในการขับลักษณะตัวละครให้เด่นชัด และตัดฉากไปกล่าวถึงเรื่องอื่น นับจากการประท้วงว่าเรื่องเล่าของเขาเป็นความจริง บิ๊กโทนีย้ายฉากไปหาความทรงจำที่เกี่ยวกับโอเลียรี ในเมื่อต้นกำเนิดของบทสนทนาไม่เปลี่ยนไป โทนีนั่งลง และจุดบุหรี่สูบ ก็ยังรั้งอยู่ในย่อหน้าเดียวกันได้ ปล่อยให้บทสนทนาเปลี่ยนเรื่องไปเอง แต่นักเขียนไม่เลือกใช้วิธีนั้น ในเมื่อบิ๊กโทนีเปลี่ยนเรื่องใหม่ นักเขียนก็แตกบทสนทนาออกเป็นสองย่อหน้า การตัดสินใจเช่นนี้เกิดขึ้นฉับพลันทันใดในการเขียนเรื่อง เกิดจากจังหวะดำเนินเรื่องในหัวนักเขียน จังหวะการเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการสานเนื้อหาให้เป็นนิยาย เป็นการเล่าเรื่อง (เคลเลอร์แมนเขียนเศษชิ้นส่วนของประโยค เพราะสดับจังหวะที่แตกย่อยมาเป็นชิ้น ๆ ในหัว) ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากเวลาหลายพันชั่วโมงที่นักเขียนเรียงถ้อยคำบนหน้ากระดาษ และได้จากเวลาหลายพันหลายหมื่นชั่วโมงอ่านวิธีเล่าเรื่องราวของนักเขียนคนอื่น

ผมอยากจะเถียงว่า ย่อหน้าเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดของงานเขียน (มิใช่ประโยค) ย่อหน้าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหาสอดประสานกันเป็นเนื้อเดียว จุดเริ่มต้นที่คำจะมีความหมายขยายใหญ่ยิ่งไปกว่าคำแปลศัพท์ หากจังหวะจะเร่งกระชั้น จังหวะนั้นจะเริ่มที่ย่อหน้า จึงถือได้ว่าย่อหน้าเป็นเครื่องมือพิเศษ มีความยืดหยุ่นสูง อาจเป็นเพียงคำเดียว ประโยคเดียว หรืออาจกินเนื้อที่หลายหน้ากระดาษ (ย่อหน้าเดียวของดอน รอเบิร์ตสัน ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ Paradise Falls มีความยาวถึง 16 หน้ากระดาษ และย่อหน้าของรอสส์ ล็อกริดจ์ ใน Raintree Country ยาวเกือบเท่าเทียมกัน) คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีที่จะนำย่อหน้ามาใช้งานให้ดี หากต้องการเขียนให้ดี ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องฝึกเคี่ยวกรำให้หนัก…คุณจะต้องฝึกจนกว่าจะควบคุมจังหวะในการดำเนินเรื่องให้เชื่องมือ 

 

(ครั้งหน้าเรามาอำลาสตีวีกัน-ธุลีดิน)

 

"ใครก็ตามที่ถามผมว่า จะเริ่มต้นอย่างไรดีผมก็รู้ทันทีว่าเขาคนนั้นยังไม่พร้อมที่จะเขียน รอเพาะความรู้และประสบการณ์ก่อนดีกว่า ถึงเวลาจะรู้เองว่าจะเริ่มอย่างไร อ่านมาก ๆ และลองเขียนเรื่องสั้นก่อนดีกว่าครับ อย่าเพิ่งเล่นเรื่องยาวเลย"

วินทร์ เลียววาริณ

 

 

สารบัญ ก้าวที่ ๓๔


เลือกคำสั่ง

Information

ใส่ความเห็น