.
กาลครั้งหนึ่งฯ โดย THEJUI
.
10 หนังเรียกน้ำตา (1)
.
.
ในฐานะที่เป็นคนเอาจริงเอาจังกับการดูหนังคนหนึ่ง คำถามหนึ่งที่ถูกถามจากเพื่อน ๆ น้อง ๆ อยู่เสมอคือ “ชอบหนังเรื่องอะไรมากที่สุด” นึกทบทวนคำถามแล้วผมก็ไม่เคยตอบได้เลยครับ อาจเพราะดูหนังมาเยอะมากแล้วก็มีหนังที่ชอบเยอะมากเช่นกัน จะให้ตอบเรื่องที่ชอบมากที่สุดคงไม่มี เพราะหนังแต่ละแนวมันก็มีดีแตกต่างกันไป ผมไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้
แต่ถ้าถามว่าชอบหนังแบบไหน แนวไหน ผมสามารถตอบได้ครับว่าผมชอบหนังดราม่า กับ หนังสยองขวัญครับ เพราะว่าสองแนวนี้ผมสามารถซึมซับอารมณ์ที่สื่อออกมาจากหนังได้ดี หนังสยองขวัญผมชอบอารมณ์ตื่นเต้น การที่ได้ลุ้นระทึกว่าผี หรือ ผู้ร้ายจะโผล่ออกมาให้สะดุ้งเอาตอนไหน ลุ้นไปเครียดไป สนุกดี ส่วนหนังดราม่าก็ชอบความรู้สึกที่ได้อินไปกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ได้ดีใจ ได้ซาบซึ้งตื้นตัน หรือ โศกเศร้าไปกับการสูญเสียหรือพลัดพรากของตัวละครในเรื่อง หนังสองแนวนี้จะมีอยู่ในคอลเลคชั่นของผมมากเป็นพิเศษ
มาคราวนี้ผมขอหยิบเอาหนังดราม่าที่ผมประทับใจ สามารถเรียกน้ำตาได้ในระดับปริ่ม ๆจนถึงไหลพราก สัก 10 เรื่องมาแนะนำ สำหรับบางท่านที่ยังไม่เคยได้ชมครับ
เริ่มกันด้วย Always Sunset On Third Street (2005)
เรื่องนี้น่าจะเป็นหนังในดวงใจของหลาย ๆ คนที่เคยได้ดูแล้ว เรียกได้ว่าเป็นหนังดีในรอบหลาย ๆ ปีที่สามารถเรียกน้ำตาคนดูได้โดยไม่มีการตาย อกหัก หรือ พลัดพรากของตัวละครใด ๆเลย แต่น้ำตาที่ได้จากหนังเรื่องนี้กลับเป็นความอิ่มเอม ตื้นตันยินดีไปกับความสุขของตัวละคร ที่ยากนักจะได้ดูหนังที่ให้ความรู้สึกแบบนี้
Always Sunset On Third Street เป็นหนังย้อนยุคที่พูดถึงชุมชนหนึ่งบนถนนสายที่สาม ในช่วงปี 1958 ทีมงานใช้ CG สร้างภาพ ฉาก ให้ออกมาดูสมจริงเหมือนกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปในยุคนั้นจริง ๆ หนังเน้นไปที่ครอบครัว ซูซูกิ ที่เปิดกิจการซ่อมรถเล็ก ๆ ในบ้านชื่อ ซูซูกิมอเตอร์ มีพ่อ แม่ และลูกชายตัวเล็กชื่ออิปเป ครอบครัวซูซูกิได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เป็นเด็กสาวนาม มัตสุโกะ ที่มาสมัครงานเป็นช่างซ่อมที่นี่ เพราะนึกว่าเป็นบริษัทรถยนต์อันใหญ่โต แต่เธอก็เต็มใจทำงานด้วยความขยันตั้งใจ บ้านตรงข้ามของซูซูกิเป็นร้านขายของชำของ ซานาวะ นักเขียนหนุ่มไส้แห้งที่ไปแอบรัก ฮิโรมิ สาวอะโกโก้ปลดระวางมาเปิดบาร์เหล้าอยู่บนถนนสายที่สาม
นอกเหนือจากตัวละครเหล่านี้ก็ยังมีตัวละครอีกมากที่คอยสร้างสีสัน ความน่ารัก อบอุ่นเป็นกันเองของสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้น หนังแทรกมุกตลกขำ ๆ ให้ได้ยิ้มเล็กยิ้มน้อยกันได้ตลอดเรื่อง แต่จุดที่ประทับใจอย่างที่กล่าวไว้คือความซาบซึ้งใจในหลาย ๆ ตอนของหนังที่ทำให้ยิ้มได้ทั้งน้ำตากับความรักของครอบครัวซูซูกิ และความผูกพันของซานาวะ กับ จุนโนสุเกะที่มีให้กันทั้งที่ทั้งสองต่างก็ไม่ได้เป็นญาติหรือรู้จักกันมาก่อน Always Sunset On Third Street เป็นหนังที่ผมยกให้เป็นหนังที่สมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านเรื่องหนึ่ง ในเรื่องบทที่ไม่น่าเชื่อว่าดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูน การแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงทุก ๆ คน โดยเฉพาะดาราเด็กที่รับบทจุนโนสุเกะที่แสดงออกทางอารมณ์ได้ดีมาก การถ่ายภาพที่จับภาพแสงอาทิตย์สีส้มที่สาดส่องไปตามถนนสายที่สาม ดูแล้วอบอุ่นสมชื่อเรื่องจริง ๆ หนังกวาดรางวัลตุ๊กตาทองญี่ปุ่นปีนั้นมาถึง 12 ตัว เป็นหนังที่ครั้งหนึ่งควรจะได้ดูจริง ๆ ครับ
ต่อมาสำหรับ Village Album (2005)
อีกเรื่องที่ต้องเสียน้ำตาให้เพราะความอิ่มเอมตื้นตันใจไปกับเนื้อเรื่อง เป็นหนังในปีเดียวกันกับ Always Sunset On Third Street โดยส่วนตัวผมประทับใจกับ Village Album มากกว่าหน่อย คงเพราะอารมณ์หนังที่บรรจงเล่าเรื่องมาเพื่อซีนสำคัญของเรื่อง หนังพูดถึงพระเอกของเรื่อง ทากาชิ ผู้ช่วยช่างภาพในโตเกียวซึ่งโดนตามตัวกลับมา ฮานาตานิ เมืองบ้านนอกเพื่อช่วยพ่อ เคนอิจิ ช่างภาพวัยชรา ตระเวนถ่ายภาพทุก ๆ ครอบครัวใน ฮานาตานิ ก่อนที่ทั้งหมู่บ้านจะกลายเป็นอดีต เพราะรัฐบาลมีคำสั่งเวนคืนหมู่บ้านนี้เพื่อทำเป็นอ่างเก็บน้ำ ทากาชิ เป็นลูกชายที่จากบ้านไปด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับพ่อ การกลับมาเดินแบกอุปกรณ์ถ่ายภาพตามหลังพ่อในครั้งนี้ จึงมีทั้งเรื่องของการทะเลาะกับพ่อ และการได้มีโอกาสปรับความเข้าใจกัน และลงเอยด้วยความเข้าใจในท้ายที่สุด ทากาชิ ไม่เคยศรัทธาในฝีมือถ่ายภาพของพ่อเลย จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อล้มป่วย เขาต้องรับหน้าที่เดินถ่ายภาพครอบครัวในหมู่บ้านแทนพ่อ แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้านเลย ทากาชิ พบว่าเขาไม่สามารถถ่ายทอดวิญญาณความรู้สึกลงไปในภาพได้เหมือนอย่างที่พ่อทำ หนังดำเนินเรื่องไปแบบเรียบง่าย ไม่ได้มีพล็อตที่ชวนติดตามมากนัก ทว่าแต่ละนาทีที่เรื่องดำเนินไปกลับค่อย ๆ ดึงเราให้เข้าไปเป็นสักขีพยานในการรับรู้ปัญหาของครอบครัว จนกระทั่งวันที่ทั้งครอบครัว พ่อ ทากาชิ พี่สาว น้องสาว และหลานสาวตัวน้อยได้กลับมาอยู่ร่วมกัน และได้บันทึกภาพร่วมกันเป็นภาพครอบครัวสุดท้ายของหมู่บ้าน ฮานาตานิ ภาพเดียวกับที่เห็นในโปสเตอร์ ซีนที่ฟังดูธรรมดา ๆ นี้แหละ กลับเป็นซีนที่ทำให้เสียน้ำตาได้โดยไม่รู้ตัว จัดเป็นหนังฟีลกู๊ดแบบเสียน้ำตาที่สร้างความประทับใจหลังดูจบได้อีกเรื่องหนึ่ง
ตามด้วย The Way Home (2002)
‘คุณยายผมดีที่สุดในโลก’ ดูในโรงร้องไห้มันในโรงเลยเรื่องนี้
เนื้อเรื่องไม่มีอะไรมากเลย แม่กับลูกอยู่ในเมืองหลวง แต่แล้ววันหนึ่งแม่มีเหตุจำเป็นต้องเอา ซังวู ลูกชายวัย 7 ขวบ มาฝากกับยายผู้เป็นใบ้ที่บ้านนอกไว้ชั่วคราว เด็กดื้อจากเมืองหลวงต้องมาปรับตัวให้เข้ากับยายเป็นใบ้ในบ้านนอกที่ไม่มีความบันเทิงอะไรเลย เป็นเรื่องยากที่หลานกับยายจะต้องพยายามปรับเข้าหากันให้ได้ เนื้อเรื่องแค่นี้แต่เป็นหนังบ้าอะไรทำไมใจร้ายเศร้าได้ขนาดนี้ ขนาดตอนเป็นแผ่นหยิบมาดูก่อนเขียนแป๊ปเดียวแค่ซีนสั้น ๆ ก็จะพาลจะร้องไห้เอาจนได้
The Way Home เป็นหนังเกาหลีที่ผมรู้สึกชื่นชมทั้งผู้กำกับ และตัวละครเอามาก ๆ เป็นผลงานของผู้กำกับหญิง ลีจุงหยาง ทั้งยังรับหน้าที่เขียนบทด้วย ดาราเด็ก ดองยงฮี ผู้รับบทเป็น ซังวู ก็เล่นเก่งมาก ๆ ฉากยายงกเงิ่นค่อย ๆ เดินตากฝนลงเขาไปซื้อไก่มาฆ่าให้หลานกิน พอทำเสร็จหลานบอกไม่เอาจะกิน KFC ดูแล้วอยากเหยียบไอ้เด็กคนนี้มาก ๆ ที่น่าชื่นชมอย่างไม่น่าเชื่อที่สุดก็คือคุณยาย คิมยูลบุน เพราะทีมงานมาเจอแกขณะหาโลเคชั่น จึงเชิญแกมาร่วมเล่น คนแก่ที่เป็นชาวบ้านทำไมเล่นหนังได้ดีขนาดนี้ แล้วเล่นหนังเรื่องแรกอายุปูนนี้ยังต้องมารับบทยาก ๆ เป็นคนใบ้ด้วย ต้องแสดงออกทางสายตาอย่างเดียวคุณยาย คิมยูลบุน สามารถเล่นได้ดีเหลือเกิน แค่ทำตาหยี ๆ ปากจู๋ ผมเห็นก็จะร้องไห้แล้ว คิดถึงยาย
หนังเริ่มเรื่องด้วยอารมณ์บีบคั้นที่ต้องเห็นเด็กเกเรเอาแต่ใจกับยายที่พูดไม่ได้ที่พยายามจะเอาใจหลาน พอเข้าใจผิดไม่ได้ดังใจไอ้หลานก็อาละวาด ยายก็นั่งมองทำตาปริบ ๆ อารมณ์หนังมาพีคสุด ๆ เอาตอนช่วงหลังที่ยายหลานผูกพันกันดีแล้ว ยายไม่สบายหลานก็ดูแลเยียวยายายตามประสาเด็กๆ ซีนที่เอาตายเลยก็คือซีนร่ำลา จากเด็กที่เกเรกับยายสุด ๆ กลับรู้สึกเป็นห่วงยายที่ต้องอยู่คนเดียว ซังวู (อ่านถึงตรงนี้สำหรับคนตรวจต้นฉบับเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงหนังเรื่องนี้ ก็เล่นเอาจมูกร้อน ๆ ขึ้นมาทีเดียว) เขียนบรรยายความเป็นห่วงยายลงในโปสการ์ดทีละใบ ทีละใบ ภาพที่ซังวู นั่งรถห่างออกไปทิ้งยายหลังค่อมถือไม้เท้าเดินกลับบ้านคนเดียว โอ้ย อารมณ์ฉากนี้สุดๆ และที่ใจร้ายที่สุดก็คือ เมื่อหนังถ่ายทำเสร็จกองถ่ายที่เคยมาอยู่กับแกก็ทิ้งให้แกอยู่คนเดียวเหมือนเดิมเหมือนในฉากสุดท้ายของหนัง ไม่รู้ป่านนี้ยาย ยูลบุน เป็นไงบ้างแล้วก็ไม่รู้
ลำดับต่อมา Christmas In August (1998)
จากหนังเรื่องนี้ทำให้ผมติดตามผลงานของผู้กำกับคนนี้มาตลอด เฮอจินโฮ เก่งกับการทำหนังที่เล่นกับอารมณ์ได้ดี
Christmas In August เป็นหนังเกี่ยวกับ ยูจุงวอน หนุ่มแว่นหน้าซื่อ เจ้าของร้านอัดรูป ที่มีโอกาสได้รู้จักกับจราจรหญิง ดาริม หน้าที่ของดาริมก็คือถ่ายรูปรถที่ทำผิดกฎหมายแล้วมาอัดไว้เป็นหลักฐาน จากการที่ดาริมต้องกลายมาเป็นลูกค้าประจำ ทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสสานสัมพันธ์กัน หนังให้คนดูรับรู้ชะตากรรมของ จุงวอน ตั้งแต่เริ่มเรื่องว่าเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพต้องไปโรงพยาบาลอยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้ จุงวอน พยายามไม่ลึกซึ้งกับดาริม ตลอดเรื่องไม่ได้เห็นฉากโรแมนติกเลย ไม่มีฉากกอดจูบเหมือนในหนังรักเรื่องอื่น ๆ แต่กลับให้เรารับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ทั้งคู่มีต่อกัน เฮอจินโฮ ทำหนังออกมาได้ความรู้สึกแบบบ้าน ๆ ติดดินสุด ๆ พระเอกไม่หล่อ นางเอกก็เป็นจราจรเหนื่อย ๆ หน้าตามันๆ ไม่ได้แต่งหน้าแต่งตัวสวยเลย หนังมีหลาย ๆ ซีนที่น่าจดจำอย่างฉากแทนความอัดอั้นในใจของ จุงวอน ที่ไม่บอกใครเลยว่าเขากำลังจะจากไปด้วยโรคร้าย จุงวอนพยายามสอนพ่อให้ใช้รีโมททีวี จุงวอน หงุดหงิดที่สอนพ่อหลายหนแล้วพ่อก็ใช้ไม่เป็นสักที พยายามอดกลั้นอารมณ์เพราะไม่สามารถพูดออกมาได้ว่า ถ้าผมตายไปแล้วใครจะมากดรีโมทให้พ่อ ฉากจากลาของ จุงวอน และ ดาริม ที่ไม่มีแม้แต่การเผชิญหน้า จุงวอน มานั่งแอบมอง ดาริม ผ่านกระจกร้านอาหารแล้วเอามือสัมผัสภาพดาริมที่ยืนอยู่ไกล ๆ ผ่านกระจก แทนความหมายถึงการโหยหาอยากสัมผัสแต่เขาไม่มีโอกาสแล้ว หนังมีบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบ ใช้ภาษาภาพถ่ายทอดความรู้สึกแทนคำพูดได้ดี
ต่อด้วย Mr.Holland’s Opus (1995)
ไม่ใช่ว่ามีแต่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่ทำแต่หนังสร้างอารมณ์ตื้นตันเป็น ฮอลลีวู้ดก็มีครับ แล้วเป็นหนังที่ทำฉากจบ 10 นาทีที่เต็มไปด้วยความอิ่มเอมใจ ตื้นใจได้ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมาเลย
เกล็น ฮอลแลนด์ ครูดนตรีได้รับการบรรจุที่โรงเรียนมัธยม จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ด้วยอยู่ในวัยสร้างครอบครัว ฮอลแลนด์ จึงได้แต่สอนให้จบ ๆ ไปวัน ๆ โรงเรียนเลิกก็รีบแจ้นกลับบ้าน เสาร์ อาทิตย์ ก็รับจ๊อบเป็นครูสอนขับรถ จนกระทั่งพฤติกรรมไม่เอาใจใส่ไปเข้าตาครูใหญ่ เขาจึงถูกเรียกไปเตือนโดยให้ข้อคิดว่า “ครูที่ดี จะต้องเป็นเข็มทิศให้กับนักเรียนด้วย” คำพูดของครูใหญ่ไปสะกิดใจให้ ฮอลแลนด์ ได้สำนึกและเปลี่ยนพฤติกรรรมใหม่ เอาใจใส่นักเรียนมากขึ้น ให้เวลานักเรียนที่มีปัญหาแต่ละคนเป็นพิเศษ อย่างเช่น เกอทรูด แลง เด็กหญิงผมแดง ที่มีปมด้อยเพราะตัวเองอยู่ในครอบครัวคนเก่ง แต่ตัวเองไม่มีพรสวรรค์อะไรเลยสักอย่าง หรือ หลุย รัส เด็กดำหัวทึบที่จะโดนให้ตกถ้าไม่สามารถทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ ฮอลแลนด์ก็เอามาเข้าวงโยธวาทิต สอนให้ตีกลองจนเป็น หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ ฮอลแลนด์ผ่านแต่ละยุคสมัยโดยแทรกเหตุการณ์สำคัญในยุคนั้น ๆ อย่างเช่น อเมริกายกพลไปรบในสงครามเวียดนาม หรือ การตายของ จอห์น เลนนอน ในครึ่งหลังหนังหันมาเน้นชีวิตส่วนตัวของ ฮอลแลนด์ เขาได้ลูกชายแต่กลับเหมือนมีกรรม ฮอลแลนด์ในฐานะครูดนตรีแต่กลับมีลูกชายที่หูหนวกไม่สามารถได้ยินและเข้าใจดนตรีของพ่อได้ ลูกชายโตขึ้นมาพร้อมกับปัญหาตึงเครียดภายในบ้าน ฮอลแลนด์ โทษชะตาชีวิตตัวเองที่มีลูกพิการทางการได้ยินและไม่คิดว่าลูกจะได้ยินดนตรีของเขา ฉากกินใจฉากหนึ่งในหนัง คือฉากที่โคลเปิดใจกับพ่อว่า “พ่อเอาแต่สอนคนอื่นไม่เคยมองลูกชายตัวเอง พ่อเอาแต่คิดว่าผมไม่สนใจ ไม่ได้ยินดนตรีของพ่อ” เป็นอีกคำพูดหนึ่งที่ทำให้ ฮอลแลนด์ ฉุกคิดและเริ่มหันมามองลูกชายตัวเอง ฮอลแลนด์ ไปปรึกษาอาจารย์สอนคนหูหนวกเรื่องการทำ คอนเสิร์ตเพื่อคนหูหนวกโดยการใช้แสงสีเข้ามาประกอบแทนการได้ยินและปิดคอนเสิร์ตด้วยเพลง Beautiful Boy ที่ฮอลแลนด์หัดร้องพร้อมภาษามือเพื่อลูกชายของเขา เป็นเพลงที่ฮอลแลนด์ร้องได้ไม่เพราะเลยแต่กลับให้ความรู้สึกที่สวยงามมาก ๆ ฮอลแลนด์ผ่านการทดสอบชีวิตอีกครั้งเมื่อ โรวีนา ลูกศิษย์คนสวยเสียงดีเข้ามาเป็นนางเอกในละครเวทีของเขา โรวีนา ทำให้ฮอลแลนด์ ไขว้เขวพอดู ถึงกับแต่งเพลงให้เธอ เมื่อละครเวทีจบ โรวีนา ตัดสินใจเลิกเรียนและหันไปเผชิญโชคในนิวยอร์ก ซึ่งเธอคิดว่านั่นคือหนทางที่จะพาเธอไปสู่ความสำเร็จในโลกการแสดง โรวีนา ชวนครูฮอลแลนด์ให้ทิ้งครอบครัวแล้วไปนิวยอร์กกับเธอ ฮอลแลนด์ ดูจะครุ่นคิดกับข้อเสนอนี้ แต่ก็เลือกทางที่ถูกได้
เข้าสู่ยุค ‘90 โรงเรียนโดนตัดงบวิชาดนตรี ฮอลแลนด์ โดนให้รีไทร์ ในวันสุดท้ายที่โรงเรียน ฮอลแลนด์ ได้รับของขวัญที่ประทับใจทั้งตัวเขาและคนดู ศิษย์ทั้ง 30 ปี ตลอดชีวิตการสอนของเขากลับมาจัดคอนเสิร์ตซิมโฟนีให้ ศิษย์คนสำคัญที่มีบทบาทสำคัญมาตลอดเรื่อง กลับมาปรากฏตัวร่วมกันส่งครูที่รักของเขา
คุณครู ฮอลแลนด์ รับบท โดย ริชาร์ด ไดรฟัส ดาราเจ้าบทบาทคนนึงที่มีผลงานดราม่าดี ๆ หลายเรื่อง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในด้านรางวัลเลย
Mr.Holland’s Opus เป็นหนังครู นักเรียน ที่ดีมาก ๆ เรื่องหนึ่งในจำนวนหนังครูอีกหลาย ๆ เรื่องที่น่าประทับใจไม่แพ้กันอย่าง Freedom Writer , Dangerous Mind , Dead Poet Society
ฉบับหน้ามาติดตามหนังเรียกน้ำตา 5 เรื่องสุดท้ายกันนะครับ
ใส่ความเห็น