เรื่องจากปก

15 02 2009

กีรติ

 

บนทางเดินแห่งรักนั้นใครบ้างจะค้นพบว่ามีหนทางให้ได้เลือกได้สัมผัสมากมายแค่ไหน เราต่างไม่อาจคาดการณ์หรือกำหนดเจาะจงอะไรได้ เพราะความรักเป็นหนึ่งในสรรพสิ่งที่มีหนทางดับสูญไม่ต่างกันกับอนิจจัง เราเองก็จำเป็นต้องยอมรับ

สำหรับผู้เขียน ความรักตามความเข้าใจนั้น มีหนึ่งเดียวคือความพึงใจ แต่ระดับนั้นต่างกัน  เคยมีโอกาสอ่านข้อคิดเห็นของภิกษุท่านหนึ่ง ท่านได้อธิบายในบริบทของความรักไว้ คือ รูปแบบของความรักในระดับที่ต่างกันนั้น สามารถจำแนกได้ 3 ระดับ นั้นคือ ความพึงใจแบบเพื่อนพ้อง ความพึงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ความรักในแบบนี้เราเองก็ก่อให้เกิดได้ยากเลย เกิดขึ้นได้ง่าย และดับง่าย อยู่ที่ว่าจะมีเครื่องหล่อเลี้ยงอะไรมีประคับประคองให้เจริญเติบโตขึ้น แข็งแรงขึ้น

ความรักในระดับต่อมา คือความรักแบบ ราคะ ความรักที่เกิดขึ้นในตัวหนุ่มสาว ความใคร่ที่ก่อตัวตามมาจากความรักที่เรียกว่าราคะนี้ เกิดและดับง่ายและไวมาก เพราะโดยพื้นฐานของคนเรานี้มีความอยากเป็นที่ตั้ง หากไม่ได้เกิดจากฉันทะและความปรารถนาดีด้วยแล้ว ความรักที่เรียกกันจนเกลื่อนโลกนั้น ก็แค่ลมพัดที่โชยเอาความใคร่ผ่านเลยหนุ่มสาวเหล่านั้นไป

ความรักในระดับสุดท้าย ที่ผู้เขียนมักเรียกว่านี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือความ เมตตา  ความรักแบบที่พ่อ แม่ หรือผู้มีอุปการะก่อน  เราสัมผัสได้จากการทะนุบำรุงเลี้ยงดู เป็นความรักที่บริสุทธิ์ยิ่ง และนอกเหนือไปจากความรักในครอบครัว มนุษย์เราสามารถมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นความรักที่ปรารถนาให้เกิดสันติสุขมากกว่าการแก่งแย้งครอบครองจนเกิดสงครามแห่งความรัก

แล้วอะไรคือปมปัญหาของความรุนแรง เมื่อความรักถึงทางตัน จากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากประสบการณ์ที่ต่างกันของแต่ละครอบครัว เราเองอาจชินกับการทำร้ายกัน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากคนที่เคยรัก กลายเป็นความชังในปัจจุบัน  ผู้เขียนของเรียกสิ่งนี้ว่า น้ำตาลไหม้ จากรสสุขที่หวานหอม กลายเป็นรสไหม้ที่ขื่นขม นั่นเป็นเพราะเราต่างไม่เคยเตรียมพร้อมเมื่อรักจากไป

สิ่งที่เรียกว่า ความชัง คือสิ่งเดียวที่ทำลายทั้ง ฉันทะ ราคะ และเมตตา โดยขึ้นอยู่ที่ว่าจะถูกปรุงแต่งด้วยจิตใจอย่างไร

แล้วจะมีอะไรไหมที่จะทำให้ความรักที่ล่มสลายไปแล้วไม่ก่อพิษทำร้ายกันและกัน สิ่งนี้สำคัญมาก คือการเรียนรู้และยอมรับ การทำความเข้าใจและการให้อภัย

อภัย คือสิ่งที่ให้ความชังจางหาย และยังสามารถดำรงรักได้แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากกันเท่าไรก็ตาม

สิ่งเหล่านั้น ได้ขึ้นอยู่กับหัวใจของผู้มีรัก ว่าจะเลือกทางเดินเช่นไร ที่จะทำให้ความรักยังคงเป็นรักเสมอไป

 

 

[สารบัญ ก้าวฯ ที่๒๕]

 


เลือกคำสั่ง

Information

หนึ่งการตอบรับ

15 02 2009
สิญจน์ สวรรค์เสก

อืมมมม

พี่พลอยได้มุมมองความรักสามรส(สามแบบ)จากคุณน้องกีร์ไปด้วย – สาธุ

.
.

พี่สอว่า…คุณน้องน่าจะทำคำหล่นหายไปคำหนึ่งตรงที่…”ความพึงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ความรักในแบบนี้เราเองก็ก่อให้เกิดได้ยากเลย เกิดขึ้นได้ง่าย…” พี่ว่าตกคำว่า “ไม่” ไปหรือเปล่า? น่าจะเป็นว่า “ก่อให้เกิดได้ไม่ยากเลย” ใช่ไหม? ทบทวนๆๆ

อีกแห่งหนึ่ง ตรงนี้น่าจะเป็นไม้เอก ไม่ใช่ไม้โท .. “เป็นความรักที่ปรารถนาให้เกิดสันติสุขมากกว่าการแก่งแย้งครอบครอง” น่าจะเป็น “แก่งแย่ง” มากกว่าเน๊อะ ว่าไหมๆๆ

-พี่สอ-

ใส่ความเห็น