ณัฐรัช ฐาปโนสถ นักวิ่งข้ามรั้ว(เพื่อ)สังคม

1 06 2009

.

ก้าวต่อก้าว โดย สารากร

ณัฐรัช ฐาปโนสถ นักวิ่งข้ามรั้ว(เพื่อ)สังคม

.

.

กำแพงที่เรามองไม่เห็นนั้น น่าสนใจยิ่งกว่ากำแพงที่เราสามารถคะเนความสูงได้มากมายนัก เพราะสิ่งที่เรามองไม่เห็นนั้นมันสุดจะคาดเดา เฉกเช่นกรอบรั้วของสังคมที่มีค่าผันแปรไม่สิ้นสุด ใครกันที่จะข้ามรั้วที่ว่านี้ไปได้ ท่ามกลางสังคมที่อุดมไปด้วยทุนนิยมที่นับวันจะส่งผลให้ผู้คนต้องเร่งสร้างกำลังทรัพย์มากกว่าอย่างอื่น

สารากรได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเขามีหน่วยก้านดีพอที่จะมาเล่าให้ฟังถึงอุดมการณ์และความหวังดีต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเขาวิ่งข้ามรั้วที่เรียกว่า เงิน ที่สังคมบัญญัติไว้ เขาคนนั้นคือ ณัฐรัช ฐาปโนสถ เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน  มูลนิธิกระจกเงา ลองอ่านความคิดของเขาเพื่อคะเนความสูงของกำแพงรั้วที่เราเองก็อยากจะข้ามกันนะ ว่าจะสักเท่าไหร่กันเชียว

 

สารากร : ทำงานเกี่ยวกับอะไรในโครงการพัฒนาฯบ้างคะ

ณัฐรัช  : ทำงานฝ่ายวิชาการให้กับโครงการนี้ครับ

 

สารากร : โครงการนี้ครอบคลุมงานด้านไหนบ้างคะ อยากให้อธิบายภาพรวมของโครงการ

ณัฐรัช  : โครงการนี้ ทำด้านการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน และขับเคลื่อนด้านนโยบายและแผนของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับงานภัยพิบัติในทุกๆด้านครับ

 

สารากร : ทำมานานหรือยังคะ

ณัฐรัช  : โครงการนี้เริ่มมาปีนี้เข้าปีที่สอง

 

สารากร : ต้องลงพื้นที่ตลอดเวลาใช่หรือเปล่า

ณัฐรัช  : ก็ไม่เชิงครับ ก็กลับมาช่วยงานด้านต่างๆด้วย

 

สารากร : ตามสถานที่ต่างๆที่ได้ไปส่วนมากเป็นพื้นที่ชนบทที่มีปัญหาแบบไหนบ้าง แล้วในเมืองมีปัญหาที่ว่านี้ไหม

ณัฐรัช  : ปัญหาที่พบมันหลากหลาย ถ้าเป็นชนบท จะเจอปัญหาภัยพิบัติ น้ำป่า ดินถล่ม น้ำแล้ง ไฟป่า ส่วนในเมือง จะเป็น น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน หมอกควันอันเนื่องมาจากไฟป่า

 

สารากร : นี่ถือว่าเป็นงานที่น้อยคนจะได้สัมผัสเลยจริงๆ ว่าไหม

ณัฐรัช  : ก็น่าจะใช่ครับ เพราะมีคนลงมาทำงานในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด ในส่วนของภาคประชาชนนะ เพราะเค้ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

 

สารากร : แล้วทำไมถึงลงมาทำล่ะคะ

ณัฐรัช  : ก็มันมีปัญหาไงครับ ต้องแก้จากต้นตอ ไม่ใช่แก้จากด้านบน มันไม่จบสักที

 

สารากร : แล้วทำไมคุณถึงมาทำงานแบบนี้ไม่คิดว่ามันลำบากบ้างหรือ

ณัฐรัช  : ไม่คิดหรอก คนลำบากกว่าเรามีอีกเยอะ อย่ามองคนที่สูงกว่า มองคนที่ด้อยกว่าแล้วเราจะรู้ว่า มันสำคัญ

 

สารากร : อะไรคือแรงบันดาลใจให้ทำงานเพื่อผู้อื่นของคุณคะ

ณัฐรัช  : งานอาสาสมัคร ที่สึนามิ เห็นคนที่ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ต่างๆ

 

สารากร : แปลว่า การช่วยเหลือคนอื่น ช่วยสภาพแวดล้อม คือความสุขของคุณ

ณัฐรัช  : เปล่า ความสุขของเราคือ การที่เห็นคนรู้คุณค่าของธรรมชาติ ธรรมชาติ ไม่เคยทำร้ายใคร แต่คนไปทำลายมันเยอะ(หัวเราะ)

 

สารากร : ในรูปแบบของการดำเนินชีวิตทั่วๆไป มองว่าบันไดของความก้าวหน้า คือการได้ทำงานที่ให้เม็ดเงินหน่วยสูง การครอบครองทรัพย์สินที่เพิ่มพูนจากการทำงาน คุณมองเรื่องนี้ยังไง กับหน้าที่การงานตรงนี้ ที่ให้ผู้อื่นมากกว่ารับ

ณัฐรัช  : รูปแบบนี้ สังคมเมืองคงใช่ แต่ในชนบทแล้ว การพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนยังมีให้เห็นอยู่อีกเยอะ การที่ให้นั้นไม่ใช่ให้เปล่านะ ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนหรือหน่วยงานนั้นๆที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเค้าเป็นเจ้าของไม่ใช่เรา

 

สารากร : แล้วคุณคิดไหมว่าต่อไปในอนาคต คุณอาจไม่มีเหมือนคนอื่นๆ เช่น บ้าน รถ เงินในบัญชี เพราะมัวแต่ทำงานแบบที่ค่าตอบแทนไม่เหมือนคนที่ทำงานทั่วๆไป

ณัฐรัช  : คิดว่ามันอยู่ที่ตัวเรานะ ถ้าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็คงไม่มีเก็บหรอก จะมากจะน้อย ก็ขอให้ไม่ตกงานละกัน

 

สารากร : คิดว่าการทำงานที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จไหม

ณัฐรัช  : ยังหรอกครับ ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย มีครับ ก็มีหลาย องค์กร ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอนจีโอ หรือประชาชน ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

 

สารากร : แบบนี้คุณคงไม่เหงา มีใครที่ทำงานแบบเดียวกับคุณอีกไหม

ณัฐรัช  : ไม่เหงาหรอกครับ เพื่อนๆพี่ๆเยอะเลย สนุกดีครับ

 

สารากร : คิดว่าตัวเราแปลกแยกจากคนส่วนมากในเมืองไหม

ณัฐรัช  : ไม่หรอกครับ ต่างคนก็มีทางเดินของตัวเอง ..จะรักจะชอบสิ่งไหน ก็อย่าผิดกฎระเบียบ ก็พอละ

 

สารากร : อยากฝากอะไรถึงคนอื่นๆที่อยากทำงานทางด้านนี้บ้างคะ

ณัฐรัช  : ก็ไม่มีหรอกอะไรมากมายครับ ขอแค่มีใจที่ทำงานด้านนี้  และตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อย่าท้อถอย ยังมีคนอีกเยอะครับที่เราเข้าไม่ถึง

 

การทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อาจหมายถึงการทำงานเพื่อตนเอง แต่เป็นการทำเพื่อทั้งตนเองและผู้อื่น งานในลักษณะเช่นนี้เป็นเครื่องวัดว่า เราเป็นแค่ไหนของโลกและของสังคม หากเพียงแค่เราทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้างไม่ว่าเราจะยืนอยู่ตรงจุดไหนก็ข้ามรั้วความเห็นแก่ตัวที่สังคมของเราถูกหล่อเลี้ยงไว้ได้อย่างแน่นอน ไม่เชื่อลองอดใจไม่ทิ้งขยะในที่ห้ามทิ้ง ลองไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ลองอดใจสักนิดที่จะเอื้อเฟื้อให้คนที่อ่อนกำลังกว่า ลองออกจากกรอบความเห็นแก่ตัวดู คำตอบอยู่ที่ตัวเราเองว่ารู้สึกสดชื่นแค่ไหนที่ข้ามพ้นมาได้

 

 

สารบัญ ก้าวฯที่ ๓๒


เลือกคำสั่ง

Information

3 responses

16 09 2010
คนดัง

ทำไหมไม่เลือกทำงานที่ศูนย์กระจกเงาเชียงรายค่ะ จากนักศึกษาพฤษภาคม 2547

16 09 2010
แอ้มจัง

ที่ทำงานมีเพื่อนเยอะป่าว

16 09 2010
แอ้มจัง

จะติดต่อพี่ได้ที่ไหนค่ะ

ใส่ความเห็น